วันอาทิตย์ที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2553

ความเป็นมาและความหมายของสัททาวิเสส

ความเป็นมาและความหมายของสัททาวิเสส
คำว่า สัททาวิเสส ปรากฏใช้เป็นครั้งแรกในสมัยรัชการที่ ๑ พบหลักฐานการใช้คำนี้ในจดหมายเหตุพงศาวดารเรื่องการสังคายนาพระไตรปิฏก เมื่อพุทธศักราช ๒๓๓๑ ณ วัดพระศรีสรรเพชญ์ (ปัจจุบันคือวัดมหาธาตุยุวราชรังสกฤษฏิ์) การทำสังคายนาในครั้งนั้นได้แบ่งออกเป็น ๔ กอง คือ
๑. กองพระวินัย
๒. กองพระสูตร
๓. กองพระปรมัตถ์ หรือพระอภิธรรม
๔. กองพระสัททาวิเสส
คำว่า “สัททาวิเสส” มิได้อธิบายไว้ในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตสถาน กล่าวตามรูปศัพท์แล้วจัดเป็นศัพท์สมาสมาจากคำสองคำ คือ สัททา กับ วิเสส  คำว่า สัททา มาจากรูปศัพท์ในภาษาบาลีว่า  สทฺท ซึ่งมักแปลว่า  “เสียง”
หรือ “ศัพท์” แต่ในที่แปลว่า “ไวยากรณ์” ดังคำว่า สทฺทานุสาสน (คัมภีร์อธิบายไวยากรณ์) สทฺทสตฺถ (คัมภีร์ไวยากรณ์)  สทฺทวิทู (ผู้รู้ไวยากรณ์) สทฺทนีติ (ระแบบแห่งไวยากรณ์) แม้ในภาษาสันสกฤตก็ปรากฏรูปคำที่คล้ายคลึงกันว่า ศพฺท ในคำว่า ศพฺทานุศาสนา (คัมภีร์อธิบายวายกรณ์) , ศพฺทศาสฺตฺร (คัมภีร์ไวยากรณ์) โดยเหตุที่ภาษาไทยมีลักษณะสำคัญประการหนึ่งคือ ไม่ออกเสียงหนักในพยางค์สุดท้าย เมื่อนำคำบาลีมาใช้ เช่น วีถิ กวิ อคฺคิ  มุนิ จึงได้แผลงรูปและออกเสียงยาวเป็น วิถี กวี อัคคี และมุนี เป็นต้น ดังนั้น คำบาลีว่า สทฺท จึงมีรูปเป็น สัททา ส่วนคำว่าวิเสส ยังคงรูปเดิมเช่นในภาษาบาลี (แปลว่า วิเศส) ดังนั้น คำว่า สัททาวิเสส จืงแปลว่า “ไวยากรณ์พิเศษ” คือไวยากรณ์ที่เป็นอุปการะสำคัญในการศึกษาค้นคว้าพระไครปิฎก

สัททาวิเสสและกลุ่มคัมภีร์อื่นเพื่อการศึกษบาลีในพระไตรปิฎก
สัททาวิเสส คือ กลุ่มคัมภีร์ไวยกรณ์บาลีที่ว่าด้วยหลักภาษาในพระไตรปิฎกเป็นคัมภีร์พื้นฐาน แห่งความเข้าใจในภาษาบาลีตลอดจนการเรียนรู้และวินิจฉัยข้ออรรถข้อธรรมในพระ ไตรปิฎก ปัจจุบันในหอสมุดแห่งชาติมีบัญชีรายชื่อกลุ่มคัมภีร์สัททาวิเสส ๑๕๓ คัมภีร์ซึ่งรวมทั้งคัมภีร์ภาษาบาลีและสันสกฤตที่แต่งในลังกา พม่าและไทย สำหรับในประเทศพม่ามีรายชื่อคัมภีร์สัททาวิเสสแต่งขึ้นเฉพาะในพม่าเป็นภาษา บาลีอย่างเดียวจำนวน ๑๓๔ คัมภีร์
ความจริงชื่อว่าสัททาวิเสสกมายความถึงกลุ่มคัมภีร์ไวยากรณ์เป็นหลักแต่ยังมี คัมภีร์อื่นที่ว่าด้วยหลักภาษาซึ่งไม่จำกัดไวยากรณ์ เมื่อกลุ่มคัมภีร์ทั้งหมดที่เป็นอุปการะในการศึกษาพระไตรปิฎก อาจแบ่งได้เป็น ๔ ประการ คือ
๑.กลุ่มคัมภีร์ไวยากรณ์หรือสัททาเสส คือ คัมภีร์แสดงหลักภาษา เช่น กัจจายนไวยากรณ์ โมคคัลลานไวยากรณ์ สัททนีติปกรณ์ เป็นต้น
๒.กลุ่มคัมภีร์นิฆัณฑุ คือ คัมภีร์ประเภทพจนานุกรมศัพท์ เช่น คัมภีร์อภิธานัปปทีปิกา คัมภีร์เอกักขรโกศ เป็นต้น
๓.กลุ่มคัมภีร์ฉันทลักษณ์ คือ คัมภีร์ว่าด้วยระเบียบในการวางคำ ครุ ลหุ เป็นแบบต่าง ๆ เช่น คัมภีร์วุตโตทัย คัมภีรฉันโทมัญชรี เป็นต้น
๔.กลุ่มคัมภีร์เกฏภะ คือ คัมภีร์ว่าด้วยการตกแต่งเสียงและความหมายให้ภาษามีความไพเราะ เช่น คัมภีร์สุโพธาลังการ เป็นต้น

กลุ่มคัมภีร์สัททาวิเสส
เนื่องจากหลักภาษาเป็นสิ่งสำคัญที่ควรเรียนรู้ก่อนคัมภีร์อื่นทั้งหมด คัมภีร์สัททาวิเสสจึงเป็นตำราพื้นฐานของการศึกษาภาษาบาลี เพื่อให้ผู้ศึกษาสามารถเข้าใจหลักภาษาได้ถูกต้อง คัมภีร์สัททาวิเสสซึ่งเป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวาง มีประวัติโดยสังเขปดังนี้
คัมภีร์สัททาวิเสสที่ละเอียดบริบูรณ์ซึ่งแต่งโดยบุรพาจารย์ในกาลก่อนมีองค์ ประกอบสำคัญ ๓ เรื่อง ได้แก่ สูตร คือ กฎหรือข้อบังคับให้ปฎิบัติตาม วุตติ คือ คำอธิบาย และ อทาหรณ์ คือ ตัวอย่างคัมภีร์ดังกล่าวที่แต่งมาแต่โบราณกาลได้สาบสูญไปแล้วมีหลายคัมภีร เช่น นิรุติปิฎกของพระมหากัจจายนะผู้เป็นมหาสาวก, จูพนิรุตติของพระยมก, โพธิสัตตไวยากรณ์ (ไวยากรณ์ของพระโพธิสัตว์) ซึ่งมีสูตรแรกว่านรวรวจโนปการานิจตฺตาลีสกฺขรานิ (อักษรที่เกื้อกูลแก่พระดำรัสของพระชินเจ้ามี ๔๐ ตัว) และสัพพคุณากรไวยากรณ์ (ไวยากรณ์ของพระสัพพคุณากร)ซึ่งมีสูตรแรกว่า สิทฺธกมาทาทโย วณฺณกฺขรา ติตาลีส (เสียง อ เป็นเสียงแรก ๔๓ เสียงชื่อว่า อักษร ตามลำดับแห่งความปรากฏ)คัมภีร์เหล่านี้มีอ้างไว้ในสัททนีติปกรณ์ ซึ่งประพันธ์โดยพระอัคควงศ์ พระเถระชาวพม่าในสมัยพุกามราวพุทธศตวรรษที่ ๑๗ และพบในคัมภีร์พุทธิปปสาทนีซึ่งเป็นฏีกาของคัมภีร์ปทสาธนะที่ประพันธ์โดยพระ ราหุละพระเถระชาวสิงหลในสมัยพุทธศตวรรษที่ ๒๐ คัมภีร์ไวยากรณ์ ดังกล่าวสาบสูญไปตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ ๒๐ สันนิษฐานว่าคงเป็นเพราะมีไวยากรณ์ฉบับอื่นที่ละเอียด บริบูรณ์กว่าจึงไม่นิยมใช้ศึกษา ต่อมาจึงสาบสูญไปตามกาลเวลา
อนึ่ง คัมภีร์สัททาวิเสสที่แต่งไว้ดีเพียบพร้อมด้วย สูตร วุตติ และอุทาหรณ์ เป็นเอกเทศปรากฏอยู่จนถึงปัจจุบัน มีหลายคัมภีร์ จำแนกได้เป็น ๓ กลุ่ม คือ กลุ่มกัจจายนไวยากรณ์ กลุ่มโมคคัลลานไวยากรณ์ และสัททนีติปกรณ์
ก.กลุ่มกัจจายนไวยากรณ์
คัมภีร์สัททาวิเสสฉบับเก่าแก่ที่สุดเท่าที่มีสืบทอดมาถึงปัจจุบัน คือ กัจจายนไวยากรณ์ โดยมีทัศนะเรื่องผู้แต่งคัมภีร์นี้ต่างกันเป็น ๓ ทัศนะคือ
ทัศนะที่ ๑ เห็นว่า พระมหากัจจายนะในสมัยพุทธกาลเป็นผู้รจนา
ทัศนะที่ ๒ เห็นว่า พระมหากัจจายนะได้รจนาสูตรไว้แล้วต่อมาบุคคลอื่นได้รจนาวุตติและอุทาหรณ์ เพื่ออธิบายคัมภีร์ให้ชัดเจนขึ้น
ทัศนะที่ ๓ เห็นว่า พระกัจจายนะในสมัยหลังพุทธกาลแต่งขึ้นในรัชสมัยของพระเจ้าสกมันธาตุในราว พุทธศตวรรษที่ ๖ หรือในระหว่างที่ราชวงศ์ของกษัตริย์พระองค์นั้นเรืองอำนาจตั้งแต่พุทธศตวรรษ ที่ ๖ เป็นต้นไปจนถึงพุทธศตวรรษที่ ๙ บางมติกล่าวว่าแต่งในราวพุทธศตวรรษที่ ๑๕- ๑๖

ลำดับคัมภีร์ทางพระพุทธศาสนา


ลำดับคัมภีร์ทางพระพุทธศาสนา

๑. คัมภีร์ดั้งเดิมคือบาลี
เดิมพระพุทธพจน์อยู่ในลักษณะการจำแล้วบอกกันต่อๆ มา เมื่อมีการจารึกลงในใบลานจึงเกิดคัมภีร์ขึ้นเป็นครั้งแรก เรียกว่ากันว่า บาลีพระไตรปิฎกซึ่งรวบรวมไว้ดังนี้ (ดูหน้าถัดไป)
คัมภีร์ทั้งหมดนี้เรียกว่าคัมภีร์ดั้งเดิม (Original Pali) หรือบางทีเรียกว่าบาลีพุทธวจนะ (Canon)
๒. คำอธิบายพระไตรปิฎก เป็นหลักฐานชั้น ๒ เรียกว่า อรรถกถา หรือ วรรณนา (Commentaries) ซึ่งมีทั้งอรรถกถาพระวินัยปิฎก อรรถกถาพระสุตตันตปิฎก และอรรถกถาพระอภิธรรมปิฎก อรรถกถาพระสุตตันตปิฎก และอรรถกถาพระอภิธรรมปิฎก ที่อธิบายต่อเนื่องกันจนตลอดก็มี ที่อธิบายเฉพาะคัมภีร์ๆ ก็มีเช่น
สมันตปาสาทิกา
อรรถกถา
พระวินัย
สุมังคลวิลาสินี
ทีฆนิกาย
ปปัญจสูทนี
มัชฌิมนิกาย
สารัตถปกาสินี
สํยุตตนิกาย
มโนรถปูรณี
อังคุตตรนิกาย
ปรมัตถโชติกา
ขุททกนิกาย
ธัมมปทัฏฐกถา
ขุททกนิกาย
ปรมัตถทีปนี
ขุททกนิกาย
ชาตกัฏฐกถา
ขุททกนิกาย
สัทธัมมปัชโชติกา
ขุททกนิกาย
สัทธัมมปกาสินี
ขุททกนิกาย
วิสุทธชนวิลาสินี
ขุททกนิกาย
มธุรัตถวิลาสินี
ขุททกนิกาย
อัฏฐสาลินี
ธัมมสังคณี
สัมโมหวิโนทนี
วิภังค์
ปัญจปกรณัฏฐกถา หรือ ปรมัตถทีปนี
ธาตุกถาปัฏฐาน
 อธิบายอรรถกถา เรียกว่า ฎีกา (Sub-commentaries) เป็นหลักฐานชั้น ๓ ตัวอย่างเช่น
อธิบายสมันตปาสาทิกา เรียกว่า ฎีกาสารัตถทีปนี
ฎีกาอธิบาย พระอภิธรรม เรียกว่า อภิธัมมัตถวิภาวินี
อธิบายฎีกา เรียกว่า อนุฎีกา (Sub-sub-commentaries) เป็นหลักฐานชั้น ๔ เช่น อนุฎีกาวิมติวิโนทนี ของพระวินัย เป็นต้น
๓. นอกจากนี้ ยังมีคัมภีร์ที่แต่งขึ้นว่าด้วยกฎเกณฑ์ทางไวยากรณ์บาลี อธิบายศัพท์ต่างๆ รวมเรียกว่า สัททาวิเสส เป็นชื่อที่เรียกกันในวงการนักปราชญ์บาลีฝ่ายไทย ดังปรากฏในพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขาว่า เมื่อทำสังคายนาในรัชกาลที่ ๑ กรุงรัตนโกสินทร์ พ.ศ. ๒๓๓๑ เพื่อชำระพระไตรปิฎกนั้น ได้มีการชำระคัมภีร์สัททาวิเสสต่างๆ ด้วย โดยมี พระพุฒาจารย์ เป็นแม่กอง เช่นมูลกัจจายนปกรณ์ รูปสิทธิธาตุปทีปิกา อภิธานัปปทีปิกา และสูจิ เป็นต้น
พระไตรปิฎกเป็นของมีมาก่อน ส่วนอรรถกถาแต่งขึ้นประมาณ พ.ศ. ๙๕๖ ส่วนฎีกาแต่งเมื่อประมาณ พ.ศ. ๑๕๘๗ คัมภีร์อนุฎีกานั้น แต่งขึ้นภายหลังฎีกายุคต่อๆ มาเป็นคำอธิบายฎีกาอีกต่อหนึ่ง
อาจารย์สุชีพ ปุญญานุภาพ ได้ตั้งข้อสังเกตไว้ว่า "แม้พระไตรปิฎกจะเป็นหลักฐานชั้น ๑ เมื่อพิจารณาตามหลักพุทธภาษิตในกาลามสูตร ท่านก็ไม่ให้ติดจนเกินไป ดังคำว่า มา ปิฏกสมฺปทาเนน อย่าถือโดยอ้างตำรา เพราะอาจผิดพลาดตกหล่น หรือบางตอนอาจเพิ่มเติมขึ้น แสดงว่าพระพุทธศาสนาสอนให้ใช้ปัญญาพิจารณาเหตุผล สอบสวนดูให้เห็นประจักษ์แก่ใจตนเอง เป็นการสอนอย่างมีน้ำใจกว้างขวาง และให้เสรีภาพแก่ผู้นับถือพระพุทธศาสนาอย่างเต็มที่ นอกจากนั้นยังเป็นการยืนยันให้นำไปประพฤติปฏิบัติ เพื่อได้ประจักษ์ผลนั้นๆ ด้วยตนเอง แม้จะมีพระพุทธภาษิตเตือนไว้ มิให้ติดตำราจนเกินไป แต่ก็จำเป็นต้องรักษาตำราไว้ เพื่อเป็นแนวทางแห่งการศึกษา เพราะถ้าไม่มีตำราเลยจะยิ่งซ้ำร้าย เพราะจะไม่มีแนวทางให้รู้จักพระพุทธศาสนาเลย ฉะนั้น การศึกษาให้รู้และเข้าใจในพระไตรปิฎก จึงเป็นลำดับแรก เรียกว่า ปริยัติ การลงมือทำตามโดยควรแก่จิต อัธยาศัย เรียกว่าปฏิบัติ การได้รับผลแห่งการปฏิบัตินั้นๆ เรียกว่า ปฏิเวธ"*(*สุชีพ ปุญญานุภาพ, พระไตรปิฎกสำหรับประชาชน,กรุงเทพฯ, มหามกุฎราชวิทยาลัย, ๒๕๒๔, น. ๒๔ )

วันอังคารที่ 14 กันยายน พ.ศ. 2553

มาำทำความรู้จักศาสตร์ ๑๘ กัน

หลายๆ คนเคยสงสัยเหมือนอาตมากันหรือไม่ ตั้งแต่สมัยเรียนวิชาพุทธศาสนา ในพุทธประวัติได้กล่าวไว้ว่า พระพุทธองค์ ท่านทรงศึกษา จนแตกฉานในศาสตร์ หรือวิชาความรู้ทางโลก ครบจนหมดทั้ง ๑๘ ศาสตร์ หรือ ๑๘ สาขาวิชานั่นเอง แล้วศาสตร์ทั้ง ๑๘ นั้นมีอะไรบ้าง ไม่ได้กล่าวถึงไว้ วันนี้มีโอกาสเลยนำมาบอกกล่าวกันครับ

ศาสตร์ ๑๘ เป็น วิชาที่เจ้าฟ้า พระราชา มหากษัตริย์ ในสมัยอดีต ส่งบุตรหลานไปศึกษาเป็นประจำ
นักประพันธ์โบราณ ได้ประพันธ์เรื่องศาสตร์ ๑๘ ไว้ ดังต่อไปนี้ 

สุติ สัมมติ สังขะยา จ โยคา นีติ วิเสสะกา

คันธัพพา คะณิกา เจวะ ธะนุเพทา จ ปูระณา

ติกิจฉา อิติหาสา จะ โชติ มายา จ ฉันทะติ

เกตุมันตา จะ สัททา จะ สิปปาฏจาระกา อิเม


ศาสตร์หรือวิชาความรู้ต่าง ๆ ในสมัยก่อนพุทธกาล มี ๑๘ ประการ ได้แก่

๑. สูติ วิชาฟังสียงคน เสียงสัตว์ รู้ว่าดีหรือร้าย 
๒. สัมมติ วิชาเข้าใจในกฎธรรมเนียม 
๓. สังขยา วิชาคำนวณ 
๔. โยคยันตร์ วิชาการช่าง 
๕. นีติ วิชาแบบแผนราชการ 
๖. วิเสสิกา วิชาการค้า 
๗. คันธัพพา วิชานาฏศิลป์ 
๘. คณิกา วิชากายบริหาร 
๙.ธนุพเพธา วิชายิงธนู 
๑๐. ปุราณา วิชาโบราณคดี 
๑๑. ติกิจฉา วิชาการแพทย์ 
๑๒. อิติหาสา วิชาตำนานหรือประวัติศาสตร์ 
๑๓. โชติ วิชาดาราศาสตร์ 
๑๔. มายา วิชาตำราพิชัยสงคราม 
๑๕. ฉันทสา วิชาการประพันธ์ 
๑๖. เกตุ วิชาพูด 
๑๗. มันตา วิชาร่ายมนตร์ 
๑๘. สัททา วิชาไวยากรณ์

เมื่อนำมาเทียบกับศาสตร์หรือสาขาการเรียนในปัจจุบัน จะได้ดังนี้

เนื่องจากสาขาการเรียนในปัจจุบัน มีการแตกสาขาย่อยมากมาย และการเรียกชื่อบางอย่าง บางศาสตร์ ก็ไม่ตรงกับของเดิม หรือมีการเปลี่ยนชื่อเรียก จึงพอจะสรุปได้ดังนี้

(ค่อยมาต่อครับ)

วันพฤหัสบดีที่ 2 กันยายน พ.ศ. 2553

วัดป่าศิวิไลซ์

วัดป่าศิวิไลซ์ อ.บางมูลนาก จ.พิจิตร

ก่อสร้างขึ้นเพื่อจุดมุ่งหมาย ในการเผยแผ่พระธรรม คำสั่งสอนแห่งองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ผู้เป็นพระบรมศาสดา และศาสดาเอกของโลก

เปิดทำการสอน ฝึกฝนกรรมฐาน ทั้งวิปัสสนากรรมฐาน และสมถกรรมฐาน แกพระสงฆ์และญาติโยมผู้สนใจในการปฏิบัติธรรม ตามหลักสติปัฏฐาน ๔

ด้วยหลักการที่เรียบง่ายและเป็นธรรมชาติ ทำให้ผู้เข้าทำการฝึกสามารถผ่านการฝึกได้ในเวลาไม่เกิน ๗ วัน
และยังสามารถฝึกทบทวนได้ตลอดเวลา หรือจะเข้าสู่การฝึกขั้นต่อไปได้อีก ตั้งแต่

๑.สมถะ ๑๒ ชม.(สามเณร, โยม) และ ๒๔ ชม.(พระสงฆ์)
๒.กสิณ ๑๐
๓.ภาวนาญาณ  ฯลฯ

เป็นต้น

ผู้สนใจสามารถเข้ารับการฝึกได้ทุกวัน ทางวัดมีที่พักและอาหารให้
ข้อมูลเพิ่มเติม

รีบตื่น รีบรู้ตัว ก่อนไฟกิเลสเผาตัว

เหล่าเพื่อนมนุษย์ทั้งหลาย จงตื่นเถิด จงนั่งเถิด จงรีบทำความเพียรเถิด
ท่านจะได้ประโยชน์อะไรกับความขี้เกียจ และลุ่มหลงในกองกิเลสเล่า
รีบตื่น รีบรู้ตัว ก่อนไฟกิเลสจะเผาตัว